เอาจริง! ปล่อยสัตว์ทิ้งวัด โดนโทษหนักทั้งจำ-ปรับ!

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติข้อสรุปเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัด โดยกำหนดชัดว่า “วัดเป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์ ห้ามซื้อขายค้าชีวิตสัตว์” โดยยึดตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ และ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งจะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะพบเห็นข่าวสารมากมาย ว่ามีการนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้งไว้ในวัด เนื่องจากไม่พร้อมดูแล หรือหมดความเมตตาแล้ว จนกลายเป็นภาระที่พระสงฆ์ต้องมาดูแลจัดการทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่กิจของท่าน
อย่างในกรณีล่าสุด ที่วัดสุวรรณเจดีย์ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีคนนำสุนัขและแมวกว่า 40 ตัวมาปล่อยทิ้งไว้ ทำให้พระสงฆ์ต้องออกปัจจัยส่วนตัวซื้ออาหารเลี้ยง  (อ่านข่าว : พระอยุธยาฯ โอดคนนำแมวมาปล่อยให้เลี้ยงกว่า 40 ตัว ) รวมไปถึงกรณีที่เคยมีผู้พบเห็นหญิงรายหนึ่งจับนกพิราบเพื่อนำไปปล่อยแก้เคล็ด หรือการนำสัตว์จำพวกนกและปลามาเร่ขายในวัดเพื่อให้คนทำบุญซื้อไปปล่อย
และที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งสะท้อนถึงผลพวงจากการทำบุญแต่อาจจะกลายเป็นสร้างบาปด้วยการปล่อยสัตว์ในวัดคือ เต่าออมสินที่กินเหรียญจากคนที่มาทำบุญแล้วสะสมอยู่ในท้องจำนวนมากซึ่งสุดท้ายก็เต่าออมสินตาย
( อ่านข่าว เศร้า! “เต่ากินเหรียญ” ตายแล้ว หลังทีมแพทย์ยื้อชีวิตสุดความสามารถ )
ด้วยเหตุนี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จึงยื่นหนังสือต่อ มหาเถรสมาคม (มส.) ระบุว่า ปัจจุบันพบว่าพื้นที่วัดส่วนใหญ่ ซึ่งสมควรเป็นพื้นที่เขตอภัยทาน ได้มีผู้นำสัตว์มาปล่อยละทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของสัตว์นั้นจนบางครั้งอาจจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นภาระกับพระภิกษุ สามเณร ในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงประชาชนในพื้นที่รอบข้าง อีกทั้งบางพื้นที่บางวัดมีการจัดจำหน่ายทำธุรกิจการค้าชีวิตสัตว์เพื่อนำมาปล่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติและเป็นการทารุณสัตว์อันไม่สมควร
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย จึงเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อปฏิบัติ ให้ทางมหาเถรสมาคมพิจารณา คือ
1.ให้กำหนดพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร
2.ให้กำหนดเขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามซื้อขายหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในเขตวัด
3.ให้วัดต่าง ๆ ถือปฏิบัติตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัด สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยเคร่งครัด
ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มติในการประชุมมหาเถรสมาคมจึงได้ข้อสรุปใน 2 ส่วน คือ กำหนดให้วัดเป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์ละทิ้ง หรือกระทำใด ๆ ให้พ้นจากการดูของตัวเอง และส่วนที่ 2 ห้ามซื้อขาย ห้ามทำการค้าชีวิตสัตว์ (ห้ามขายนกปล่อย ปลาปล่อย)
โดยยึดปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ 2 ฉบับ คือ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16, 19, 20 ประกอบมาตรา 47 กำหนด ห้ามล่า ครอบครองและการค้า สัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืน “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขณะที่ส่วนของการปล่อยสัตว์ อย่าง นก เต่า หมูป่า หรือจะเป็นสัตว์เลี้ยงอย่าง สุนัขและแมว จะถือว่ามีความผิดตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 กำหนดห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแล ของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ประกอบมาตรา 32 กำหนดว่า เจ้าของไม่ปฏิบัติ หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 “ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท”
 
 
ปัญหาการสร้างภาระและเป็นการทารุณกรรมสัตว์กลาย ๆ เหล่านี้ยังคงไม่หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ด้วยเหตุที่วัดได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ในการทำบุญทำทาน จึงมีคนนำสัตว์มาปล่อยเพราะเชื่อว่าพระท่านต้องไม่ทิ้งสัตว์ที่น่าสงสาร ส่วนกรณีการหากินกับความเชื่อ โดยการจับนกจับปลามาให้คนทำบุญปล่อย โดยที่น้อยคนนักจะตระหนักว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจนเป็นข่าวครึกโครมอยู่บ่อยครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากจิตสำนึกของมนุษย์เราทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่การปล่อยสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่วัด ก็มาจากส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า อานิสงส์จากการปลดปล่อยชีวิตสัตว์จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นแก่ตัวเอง ส่งผลให้มีการทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์เป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การเกิด “ธุรกิจจับสัตว์มาให้คนทำบุญปล่อย” ซึ่งการปล่อยสัตว์แต่ละชนิดก็มีความหมายแตกต่างกัน คือ
ปล่อยโค-กระบือ เป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาตนเอง จะมีอายุยืนแคล้วคลาด ปราศจากโรคภัย หรือหมดเคราะห์กรรม
ปล่อยนก จะทำให้โชคลาภเพิ่มพูน เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง และพ้นจากทุกข์ภัยต่างๆ
ปล่อยหอยโข่ง จะช่วยให้ดำเนินชีวิตสะดวกสบาย เป็นผู้นำคนมีบริวารมาก
ปล่อยหอยขม เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้หมดทุกข์หมดโศก สามารถช่วยปลดปล่อยเรื่องขมขื่นความทุกข์โศกทั้งหลาย
ปล่อยเต่า เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหายวันหายคืนและมีอายุยืน
ปล่อยตะพาบ จะทำให้ไม่มีเภทภัยมาคุกคาม คนที่ป่วยเป็นอัมพาตจะมีอาการทุเลา
ปล่อยกบ 2 ตัว เพื่อให้เคราะห์กรรมที่เกิดจากคู่ครองได้หมดสิ้น
ปล่อยกบ 5 ตัว เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ช่วยให้พ้นวิบากกรรมเก่า
ปล่อยปลาทั่วไป เพื่อสะดาะเคราะห์ปรับดวงที่หม่นหมองมัวให้สดใสรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข
ปล่อยปลาไหล ช่วยการดำเนินชีวิตทุกอย่างราบรื่น ทั้งการงาน การเงิน พ้นจากอุปสรรคสู่จุดมุ่งหมายได้อย่างรวดเร็ว
ปล่อยปลาดุก จะทำให้ศัตรูหรือคู่แข่งพ่ายแพ้
ปล่อยปลาช่อน ช่วยช้อนเงิน ช้อนทอง และเพื่อปรับดวงให้หมดเคราะห์หมดภัย
ปล่อยปลาหมอ เพื่อสุขภาพดี แข็งแรง จะทุเลาจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่เป็นอยู่
ปล่อยปลาตะเพียน จะขยันหมั่นเพียรและหาเงินได้มากขึ้น
ปล่อยปลาบู่ เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา ผู้มีพระคุณ
ปล่อยปลากราย ช่วยให้เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี
ปล่อยปลาไน จะเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่
ปล่อยปลาซิว จะทำให้รอดพ้นจากคดีความต่าง ๆ
ปัญหาการสร้างภาระและเป็นการทารุณกรรมสัตว์กลาย ๆ เหล่านี้ยังคงไม่หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ตราบใดที่ความเชื่อที่ว่าการปล่อยสัตว์ยังไงก็ได้บุญนั้นยังคงอยู่ การหากินกับความเชื่อด้วยการจับนกจับปลามาให้คนทำบุญปล่อยก็จะเกิดขึ้นต่อไป น้อยคนนักจะตระหนักว่า สิ่งที่ทำเพราะคิดว่าได้บุญนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นการทำร้ายเพื่อนร่วมโลกของเราโดยที่ไม่รู้ตัวก็เป็นได้
ที่มาข้อมูล: มหาเถรสมาคม / horolive, PPTV36