ชายพเนจรพบพระโพธิสัตว์ จึงถามว่า “ขอนั่งแทนท่านได้ไหม”

“ชายพเนจรพบพระโพธิสัตว์”

ชายพเนจรเร่ร่อนคนหนึ่ง เดินเข้าไปในวิหารของวัดแห่งหนึ่ง เขาเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่บนบัลลังก์บัว มีผู้คนกราบไหว้บูชา จึงรู้สึกเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง แต่อีกใจหนึ่งก็อดรู้สึกอิจฉาพระโพธิสัตว์ไม่ได้ จึงถามพระโพธิสัตว์ว่า

“ลูกช้างขอนั่งแทนท่านสักครู่ได้ไหมขอรับ?”

“ได้สิ แต่เธอต้องสัญญาว่าจะไม่เอ่ยปากพูดอะไรทั้งสิ้น นั่งเฉย ๆ ดู และรับฟังเท่านั้น หากทำได้ เราก็ให้เจ้านั่งแทนเราได้!” พระโพธิสัตว์กล่าวตอบ

ชายพเนจรจึงรับปากว่าจะทำตามสัญญา เมื่อเขาขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์แทนพระโพธิสัตว์แล้ว สิ่งที่เขาได้เห็นคือ มีผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างจิตต่างใจ ล้วนมาอธิษฐาน อ้อนวอนขอบางสิ่งบางอย่างทั้งสิ้น

แม้ชายพเนจรจะรู้สึกอึดอัดมากเพียงใดที่ต้องเป็นฝ่ายรับฟังเพียงอย่างเดียว เขาก็ต้องอดทน เพราะได้สัญญาต่อพระโพธิสัตว์ไว้แล้วว่าจะนั่งเฉย ๆ ดู และรับฟังเท่านั้น

และแล้ว ก็มีเศรษฐีเฒ่าผู้หนึ่งได้เข้ามากราบพระโพธิสัตว์ กล่าวคำอธิษฐานว่า “ขอพระโพธิสัตว์ได้โปรดชี้ทางให้ลูกช้างมีโอกาสได้สร้างบารมีด้วยเถิด” เมื่อกล่าวเสร็จ เขาก็กราบ แล้วลุกขึ้น

แต่เมื่อเศรษฐีเฒ่าลุกขึ้นนั้น ถุงเงินของเขาก็หล่นลงพื้น ชายพเนจรเกือบจะเอ่ยปากเรียกชายชราไว้ แต่เมื่อนึกถึงคำสัญญา ก็ได้แต่เอามือปิดปากของตนเองไว้

หลังจากเศรษฐีเฒ่าออกจากวิหารไป ก็มียาจกคนหนึ่ง เข้ามากราบไหว้พระโพธิสัตว์ อธิษฐานว่า

“ข้าแต่พระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา แม่ของข้าป่วยหนัก ไม่มีเงินรักษา ขอพระองค์โปรดเมตตาข้าน้อยด้วยเถิด”

แล้วเขาก็ก้มลงกราบ จึงเหลือบไปเห็นถุงผ้าที่อยู่บนพื้น เมื่อเปิดออกดู ข้างในถุงนั้นมีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ชายยากจนถึงกับน้ำตาไหล ก้มศีรษะลงกับพื้นติดต่อกันหลายครั้ง และพร่ำพูดว่า

“พระองค์มีเมตตายิ่ง พระองค์มีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ”

จากนั้น เขาก็หยิบถุงเงินเดินออกจากวิหารไป ชายพเนจรอยากจะบอกกับคนยากจนนั้นว่า นั่นไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์ นั่นเป็นถุงเงินของเศรษฐีเฒ่าที่ทำตกหล่นต่างหากเล่า แต่ก็ต้องอดทน ไม่พูดอะไรออกไป เพื่อรักษาคำสัญญา

คล้อยหลังของคนยากจน ก็มีชาวประมงคนหนึ่งเข้ามากราบไหว้พระโพธิสัตว์ “ข้าแต่พระโพธิสัตว์ ขอให้การออกเรือครั้งนี้ของลูกช้าง ราบรื่นปลอดภัยด้วยเถิด” จากนั้นเขาก็ก้มลงกราบ ลุกขึ้น แล้วเดินออกจากวิหารไป

เขาเดินยังไม่ถึงประตูวิหาร เศรษฐีเฒ่าก็กลับมาหาถุงเงินที่ทำหล่นไว้ ไม่รู้ว่า ก่อนหน้าชาวประมง ได้มีชายยาจกเข้ามาในวิหารก่อน จึงคิดเหมาเอาว่า ชายประมงเป็นคนที่เข้ามาในวิหารหลังตน เมื่อหาถุงเงินไม่พบ จึงวิ่งกรูออกมาชี้หน้าด่าชายประมงว่า

“แกใช่ไหมที่ขโมยเงินของข้า”

“เงินอะไรของท่าน ข้าไม่เห็น ไม่รู้เรื่อง อย่ามาปรักปรำข้านะ”

ทั้งสองคนจึงทะเลาะกันด้วยเสียงอันดัง ชาวประมงเมื่อโดนปรักปรำก็ไม่ยอม เพราะตนไม่ได้เก็บเงินที่หล่นหายไปของเศรษฐีเฒ่า ถึงจุดนั้น ชายพเนจรผู้นั่งอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งรู้เห็นความจริงทั้งหมด ก็อดทนต่อไปอีกไม่ได้

จึงตะโกนออกไปด้วยเสียงอันดังว่า “ท่านทั้งสอง หยุดทะเลาะกันได้แล้ว!” จึงเล่าความจริงทั้งหมดให้ชายทั้งสองคนฟัง เรื่องราวจึงสงบลงได้ ในที่สุดเศรษฐีเฒ่าก็ตามไปหายาจกจนพบ และได้ถุงเงินกลับคืนมา

พระโพธิสัตว์ที่แฝงกายอยู่ในวิหารได้ปรากฏกายออกมาและถามชายพเนจรว่า “เจ้าคิดว่าทำถูกแล้วหรือ เจ้าจงกลับไปเป็นชายพเนจรตามเดิมเถิด!”

“เจ้าคิดว่า การที่เจ้าเอ่ยปากบอกความจริงเป็นสิ่งที่ยุติธรรมแล้วหรือ แต่เจ้ารู้ไหม ชายยากจนต้องเสียมารดาของเขาไปเพราะไม่มีเงินรักษา เศรษฐีเฒ่าก็ไม่มีโอกาสได้สร้างบารมี ส่วนชาวประมงก็ต้องพาเรือไปอับปางกลางทะเล

หากเจ้าไม่เอ่ยปากพูด นั่งเฉย ๆ ดู และรับฟังอย่างเดียวตามคำสัญญา คำอ้อนวอนของพวกเขาทั้งสามคนย่อมลุล่วงสมดังปรารถนา

ชายยากจนมีเงินพามารดาไปรักษา มารดาของเขาจะไม่ต้องด่วนจากไป

เศรษฐีเฒ่าแม้เงินทองจะหายไปแต่นั่นเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่ทั้งหมด เท่ากับว่า เขาได้สร้างบารมีตามที่เขาอ้อนวอนขอไว้

ส่วนชาวประมง ซึ่งถูกเศรษฐีกล่าวหา ทางการจึงนำตัวไปสอบสวน เขาจึงไม่ได้ออกทะเล จึงทำให้เขาไม่ต้องจบชีวิตกลางท้องทะเลในวันนี้ตามที่เขาขอไว้ …..”

ชายพเนจรเมื่อได้ฟังพระโพธิสัตว์อธิบายเช่นนั้นจึงรู้สึกผิดมาก เพราะเขาไม่รักษาสัญญาที่จะไม่พูด จึงทำให้คำอ้อนวอนของคนทั้งสามไม่มีผล ทำให้พวกเขาต้องประสบกับภัยต่าง ๆ ชายพเนจรจึงได้แต่ก้มหน้าเดินลงจากบัลลังก์บัวออกจากวิหารไปอย่างเศร้าสลด

นิทานเรื่องนี้ต้องการสอนว่า

เรื่องราวมากมายในชีวิต ที่ควรปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น พึงหัดปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเถิด ผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะดีกว่าที่เราคาดคิดไว้ก็ได้

เพราะหากไปพยายามฉุดรั้งดื้อดึง หรือเปลี่ยนปัจจัยแล้ว ผลลัพธ์ย่อมเคลื่อนจากที่ควรจะเป็น และอาจจะให้โทษมากกว่า

การมีความอดทน นิ่ง พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในทุกขณะเวลาโดยไม่ตื่นตระหนกหรือตื่นตูม คือความสามารถอันยิ่งยวดอย่างหนึ่ง และการคล้อยตามธรรมชาติก็เป็นวาสนาที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

ขอบคุณแหล่งที่มา : พระโพธิธรรม