1 ล้านแรก ทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับออมเงินจากประสบการณ์จริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ MrMessenge

          ใคร ๆ ก็ฝันว่า อยากจับเงินล้าน แต่รู้สึกไหมว่า การจะได้เงินล้านสักก้อนนั้นทำไมถึงยากจัง เพราะไม่ว่าจะพยายามออมอย่างไร แต่สุดท้ายก็ยังออมเงินไม่ได้สักที เพราะไม่รู้ว่าควรจะออมเงินอย่างไรให้พอดีกับภาระที่มีอยู่ และที่สำคัญ ถึงจะออมเงินได้แล้ว ก็ยังต้องเหลือเงินในกระเป๋าให้เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่ลำบากอีกด้วย

          ใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ก็อยากเดินหน้าเก็บเงินล้านให้ได้สักครั้ง ลองมาอ่านบทความจากคุณ MrMessenger ที่อนุญาตให้กระปุกดอทคอมนำข้อมูลจากประสบการณ์จริงมาเผยแพร่ให้อ่านกัน อ่านจบแล้วคุณอาจจะรู้ว่า การเก็บเงินล้านไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถเลยก็เป็นได้ !

          คุณ MrMessenge เล่าว่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง เพื่อให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยเพียงพอในแต่ละเดือน แบบไม่ต้องเดือดร้อนใจกับยอดค่าใช้จ่ายที่ดูสวนทางกลับรายได้ในกระเป๋าตัวเองนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่ถ้าเราสามารถตัดค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเงินออกไปได้ การเก็บเงิน 1 ล้านแรกก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป  ว่าแต่ ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ที่คุณ MrMessenge บอกนั้น จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปอ่านเรื่องราวดีที่เขานำมาบอกเล่ากันเลยค่ะ

1 ล้านแรก ทำได้ไม่ยาก

          สำหรับมนุษย์ปุถุชนผู้ซึ่งไม่ได้เกิดมาบนกองทอง ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง เป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือเจ้าของกิจการเล็ก ๆ น้อย ๆ การจะเก็บเงินให้ได้แต่บาทแต่ละสตางค์ ดูเหมือนจะเป็นความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ภาระค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือน ดูมันจะวิ่งด้วยอัตราเร่งที่แซงหน้าเงินเดือนแบบไม่เห็นฝุ่น

          ลองมานั่งกางค่าใช้จ่ายกันดู ก็จะพบค่าใช้จ่ายในหัวข้อหลัก ๆ อยู่ 4 ประเด็น

         1. ค่าอาหาร
         2. ค่าสาธารณูปโภค และค่าโทรศัพท์รายเดือน
         3. ค่าเดินทาง
         4. ค่าใช้จ่ายจิปาถะ (ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง)

          ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดมากก็ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจิปาถะนั้นเอง

          มหาเศรษฐีหุ้นผู้ที่รวยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟต เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณมัวแต่สะสมของที่ไม่จำเป็น ซักวันคุณจะต้องขายสิ่งที่มันจำเป็น” ซึ่งผมมองว่า เป็นคำพูดที่ตรงมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากหนุ่มวัยเริ่มทำงานคนหนึ่งอยากได้นาฬิกาเรือนละเป็นแสนซักเรือน ในขณะที่เงินเดือนแค่สองหมื่นต้น ๆ รู้ว่าไม่มีเงินเหลือ เลยไปกู้มาซื้อ แล้วยอมโดนจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง คำถามคือ วัตถุประสงค์ของนาฬิกา คืออะไรครับ? นาฬิกาเรือนแสน กับเรือนหลักพัน ก็บอกเวลาได้เหมือนกัน ยิ่งเมื่อเทียบกับความสามารถในการหารายได้แล้ว ยิ่งไม่ควรกู้เงินมาซื้อด้วยซ้ำ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริงกับใครซักคน ผมว่า ผู้อ่านก็คงรู้สึกเหมือนผมว่า นายคนนี้เดือดร้อนแน่ ๆ ในอนาคต หากจิตใจยังไม่ยอมปล่อยตัวเองออกจากนาฬิกาเรือนแสนบนข้อมือนั้นไปได้

          ปัญหาแท้จริงแล้ว เกิดจากการไม่รู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ จึงไม่สามารถใช้สติมากำกับว่า สิ่งไหนควรซื้อสิ่งไหนไม่ควรซื้อ เห็นไหมว่า เราโชคดีนะครับ ที่เกิดมาในยุคที่ยังมีพุทธศาสนาอยู่ สอนให้รู้กายรู้ใจ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวได้
          จะเห็นว่า ได้เงินเดือนมา เราก็ต้องมานั่งต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน วนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มารู้ตัวอีกทีอายุปาเข้าไปเลขสาม เลขสี่ ยังไม่มีเงินเก็บเลย แบบนี้ผมขอเรียกว่า สัญญาณอันตราย

          ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเงินให้ได้ซักล้านหนึ่งนะครับ แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยบอกกับผมไว้ว่า ตอนหาเงิน ยากที่สุดก็คือ ล้านแรกนี่เอง ถ้าผ่านได้เมื่อไหร่ ล้านที่สอง ล้านที่สาม มันง่ายกว่าล้านแรกเยอะเลย พอเวลาผ่านมา ก็เหมือนว่าจะจริงนะครับ เพราะในช่วงแรกที่เรามีรายได้ เราไม่รู้ว่าต้องเก็บยังไง ต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่คอยจะดึงเงินจากกระเป๋าเรายังไง แถมไม่รู้จักวิธีการลงทุนให้เงินของเราทำงาน มันก็ย่อมติดขัดเป็นธรรมดา แต่พอเจอทางที่ถูกต้อง ปรับนิสัยตัวเอง หาความรู้ หาช่องทางการลงทุน และวางแผนในระยะยาวไว้อย่างดี อะไรมันก็ดูเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที
          ซึ่งเมื่อสำรวจตัวเอง ผมก็เคยสงสัยว่า ทำไมปัญหาในช่วงแรก ๆ ของการออมเงินมันถึงหายไป ก็พบคำตอบที่หามานาน นั้นก็คือ "เรามองว่าการออมเงิน และการเก็บเงินมันมีปัญหา ก็เพราะว่า เราวาดเป้าหมายไว้ไม่ใหญ่พอ"


          ที่ว่า เป้าหมายไม่ใหญ่พอ หมายความว่ายังไง? สมมตินะครับ มีเพื่อนมาท้าแข่งกันวิ่ง 400 เมตรกัน เราก็สนใจ เลยขอดูเงื่อนไขว่า ถ้าชนะ จะได้อะไร? เพื่อนก็บอกว่า ถ้าเราชนะ จะให้เงินเรา 5 บาท ... พอได้ยินแค่นั้นก็ถอดใจเลย พร้อมกับบ่นออกมาว่า ใครจะมาตั้งหน้าตั้งตาวิ่งตั้งเกือบครึ่งกิโล เพียงเพื่อเงินแค่ 5 บาทกัน

          แต่ลองกลับกันนะครับ สมมติว่า เงินรางวัลที่จะได้หากวิ่งชนะ ก็คือ 5,000 บาท รับรอง คราวนี้วิ่งลืมตายเลย ไม่คิดถึงอุปสรรคว่า แดดจะร้อนไหม วิ่งไกลไปจะเหนื่อยหรือเปล่า คิดอย่างเดียว อยากได้ 5,000 บาท!!!

          ดังนั้น วิธีการปรับวินัยการเงิน เพื่อเก็บเงินให้ได้ล้านแรกนั้น ต้องเริ่มจากปรับเป้าหมายใหญ่ขึ้น ใหญ่ให้มากพอที่เราจะมองข้ามอุปสรรค และความลำบากของการอดออมให้ได้ คิดถึงความสบายของพ่อแม่ คิดถึงลูก คิดถึงภรรยา คิดถึงความมั่นคงของชีวิต คิดถึงการใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท

          ถ้าทำได้ละก็ พฤติกรรมการใช้เงินของเราจะเปลี่ยน เพราะเป้าหมายของเรามันใหญ่จนปัญหาเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที นี่ละครับ เคล็ดลับ 1 ล้านแรกของผม




บทความจาก dlitemag.com
โดย MrMessenge