ผู้ใหญ่ยังอาย เด็กหนุ่มวัย 19 ใช้เงิน 7.6 พันล้าน ทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

ขยะกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละปีมนุษย์ทิ้งขยะพลาสติกกว่า 300 ล้านตัน ขยะแต่ละชิ้นที่ถูกทิ้งลงทะเลจะใช้เวลากว่า 50 ปีล่องลอยไปอยู่กลางมหาสมุทร นกทะเลและสัตว์น้ำต้องตายเพราะผลกระทบจากขยะเหล่านี้นับล้านๆ ตัว

แรงบันดาลใจของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่อยากจะเห็นท้องทะเลสะอาด ผลักดันให้เขาประดิษฐ์ไม้กวาดเก็บขยะซึ่งกำลังจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังจะแก้ไขปัญหาที่บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามหาทางแก้กันมาตลอด แต่ก็ยังแก้ไม่สำเร็จเสียที

ในปี 2011 โบยัน สลัต นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยานวัย 16 ปี จากเนเธอร์แลนด์ ได้ไปท่องเที่ยวที่ชายทะเลประเทศกรีซ ขณะที่กำลังสนุกกับการดำน้ำอยู่นั้น เขาสังเกตว่าจำนวนปลาในทะเลแห่งนี้น้อยกว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่เหนือน้ำเสียอีก

สลัต เก็บเรื่องนี้มาเป็นแรงผลักดันในการหาวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อกำจัดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้มากที่สุด เขาลงมือศึกษามหาสมุทรทั้งทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอย่างจริงจัง สลัต พบว่าวัตถุในมหาสมุทร เช่น ขยะ หรือแพลงก์ตอน จะล่องลอยไปกับวังวนของน้ำ (Gyres) ที่เกิดจากกระแสลม กระแสน้ำ และสภาพภูมิประเทศ

นอกจากอุปสรรคเรื่องจำนวนขยะพลาสติกที่มหาศาลแล้ว กระแสน้ำทะเลที่ไม่เคยหยุดนิ่งยังพัดพาขยะเหล่านี้ไปเกยตื้นที่ชายหาด และพัดพามันกลับใจกลางมหาสมุทรสู่วังวนน้ำอีกครั้ง ทำให้ขยะไม่ได้กองอยู่กับที่ให้เราเก็บกวาดได้ง่ายๆ บางครั้งอุปกรณ์เก็บขยะกลับทำลายระบบนิเวศน์ในทะเลซ้ำอีก เช่น ทำให้นก ปลา และเต่าทะเลตาย

แต่สิ่งหนึ่งที่หนุ่มแคนาดาสังเกตเห็นจากขยะจากทั่วทุกมุมโลกคือ ขยะจำนวนมหาศาลนี้ลอยน้ำเหมือนกัน โดยทุกชิ้นจะลอยไปหยุดที่ Gyres และหยุดนิ่งเป็นแพขยะ (Ocean Garbage Patches) ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิกจุดใหญ่ 2 จุดใกล้กับชายฝั่งของฮาวายและญี่ปุ่น

แพขยะนี้มีขนาดพอๆ กับรัฐเทกซัสของสหรัฐและเริ่มมองเห็นได้จากนอกโลกแล้ว โดยเมื่อถูกแสงแดดแผดเผาขยะจำพวกพลาสติก โฟม จะค่อยๆ แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและปล่อยสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในทะเล

วิธีทำความสะอาดมหาสมุทรของ สลัต คือ สร้างทุ่นลอยน้ำพร้อมกับแขนรูปตัววีความยาว 100 กม. แล้วอาศัยกระแสลมกับน้ำช่วยพัดพาขยะเข้ามาติดที่แขนทั้งสองข้างโดยปล่อยให้สัตว์น้ำลอดผ่านแขนนี้ไปได้ เขาตั้งเป้าว่าจะกำจัดขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกให้ได้ 42% หรือราว 70 ล้าน กก.ภายใน 10 ปี โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 167 บาทต่อ กก. นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีอื่น

ปี 2013 สลัต ตัดสินใจพักการเรียนเพื่อมาก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup อย่างเป็นทางการ

อีก 1 ปีต่อมา ไม้กวาดกำจัดขยะรุ่นทดสอบที่ สลัต และเพื่อนๆ นักวิทยาศาสตร์ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นมาก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง และถูกนำไปลอยเก็บขยะใกล้กับเกาะอาโซเรสในประเทศเนเธอร์แลนด์ ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย หลังจากนั้น นักลงทุนจากทั่วโลกร่วมระดมทุนให้กับโครงการนี้ถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียง 100 วันเท่านั้น

ขณะนี้ทีมของ สลัต กำลังดำเนินการทดสอบระยะที่ 2 ด้วยการติดตั้งทุ่นลอยน้ำและแขนดักขยะขนาดใหญ่นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น และคาดหมายว่า The Ocean Cleanup จะเริ่มปฏิบัติการเต็มรูปแบบในปี 2020

The Ocean Cleanup เปิดตัวต้นแบบรุ่นแรก

หลังจากผ่านไปนานเกือบ 1 ปีที่ M2F เคยเอ่ยถึงชื่อของ โบยัน สลัต มาแล้วแบบพอหอมปากหอมคอ คราวนี้เรานำเสนอเรื่องราวของเขาแบบเจาะลึก พร้อมๆ การเปิดตัวอุปกรณ์ต้นแบบรุ่นแรกของ The Ocean Cleanup ความยาว 100 ม.

ซึ่งจะติดตั้งที่ทะเลเหนือไกลออกมาจากชายฝั่งประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นระยะทาง 23 กม. เป็นเวลานาน 1 ปี เพื่อทดสอบว่าอุปกรณ์สามารถทนทานกับสภาพอากาศที่เลวร้ายได้หรือไม่ เพราะบริเวณทะเลเหนือขึ้นชือว่าเป็นน่านน้ำที่มีสภาพอากาศและคลื่นลมแปรปรวนมากแห่งหนึ่งของโลก

หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองที่ทะเลเหนือจะนำไปติดตั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก และใช้จริงภายในปี 2017 โดยอัตราความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์จะได้รับความเสียอยู่ที่ 30% ทั้งนี้ มรสุมขนาดย่อมของทะเลเหนือมีความรุนแรงมากกว่ามรสุมที่มีความรุนแรงสูงในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 100ปี

ชมภาพ

.

….