โรคไทรอยด์ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่อย่ามองข้าม

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่อะไร รวมถึงความสำคัญของอวัยวะส่วนนี้ ทั้ง ๆ ที่ต่อมไทรอยด์ก็มีอิทธิพลกับสุขภาพของเรามากพอสมควร

          ถ้าไม่เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย ก็เชื่อว่าเราแทบจะทุกคนคงไม่นึกถึงอวัยวะที่อยู่ข้างในร่างกายของตัวเอง อย่างต่อมไทรอยด์นี่ก็เหมือนกัน ที่หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต่อมไร้ท่อต่อมนี้อยู่ส่วนไหนของร่างกาย ดังนั้นเพื่อความกระจ่างแจ้งในร่างกายของเราเอง วันนี้มาทำความรู้จักต่อมไทรอยด์แบบเจาะลึกกันค่ะ

ต่อมไทรอยด์คืออะไร
          ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ต่อมไทรอยด์จะอยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือกลงมาราว ๆ 1-2 เซนติเมตร


โรคไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่อะไร
          หน้าที่ของต่อมไทรอยด์คือสร้างฮอร์โมน โดยอาศัยไอโอดีนจากอาหารที่กินเข้าไปเป็นวัตถุดิบ และนอกจากสร้างฮอร์โมนแล้ว ต่อมไทรอยด์ยังทำหน้าที่หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

          นั่นหมายความว่าไอโอดีนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรามากค่ะ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร ถ้าขาดไอโอดีนลูกในครรภ์อาจมีความพิการทางสมอง หรือมีโรคไทรอยด์ติดตัวได้เลย ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงต่อโรคไทรอยด์ เราก็ควรให้สารไอโอดีนกับร่างกายของเราอย่างเพียงพอ โดยผู้ใหญ่ควรได้รับไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับหญิงมีครรภ์ควรได้รับไอโอดีน 175 ไมโครกรัมต่อวัน หญิงให้นมบุตรควรได้รับไอโอดีน 200 ไมโครกรัมต่อวัน เด็กแรกเกิด-6 เดือนควรได้รับไอโอดีน 40 ไมโครกรัมต่อวัน เด็กอายุ 6 เดือน-6 ปี ควรได้รับไอโอดีน 50-90 ไมโครกรัมต่อวัน และเด็กวัยเรียนควรได้รับไอโอดีน 120 ไมโครกรัมต่อวัน

          ทั้งนี้เราสามารถเติมสารไอโอดีนให้ร่างกายได้จากอาหารหากินง่ายที่คุ้นเคย ยกตัวอย่างอาหารที่มีไอโอดีนสูงก็อย่างเช่น สาหร่ายทะเล (100 กรัม) มีไอโอดีน 200 ไมโครกรัม, ปลาทะเล (100 กรัม) มีไอโอดีน 50 ไมโครกรัม, เกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพดี 1 ช้อนชา (5 กรัม) มีไอโอดีน 150-200 กรัม หรือจะเป็นอาหารทะเล น้ำปลาเสริมไอโอดีน ซีอิ๊วขาวเสริมไอโอดีน บะหมี่เสริมไอโอดีน ไข่สดเสริมไอโอดีน เหล่านี้ก็มีปริมาณสารไอโอดีนอยู่พอสมควรเช่นกันค่ะ

โรคไทรอยด์

ถ้าต่อมไทรอยด์ผิดปกติ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

          หากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติได้ ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น คอพอก คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ สาเหตุมาจากอะไร
          ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มักจะพบว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนมากเกินหรือน้อยเกินไป ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายในเวลาต่อมา ซึ่งภาวะความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จะพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย และพบว่าผู้ป่วยบางรายมีญาติพี่น้องเป็นต่อมไทรอยด์ผิดปกติด้วยเช่นกัน 

โรคไทรอยด์

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มีอะไรบ้าง
       
1. ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (ไฮโปไทรอยด์)


          ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (hypothyroidism) เป็นภาวะความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อย โดยเป็นภาวะขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์อันเนื่องมาจากการทำงานของไทรอยด์ต่ำ หรือไม่มีต่อมไทรอยด์ สาเหตุอาจเกิดจากไทรอยด์อักเสบแบบ Hashimoto’s thyroiditis ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disorder) ชนิดหนึ่ง ซึ่งในตอนแรกจะกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากกว่าปกติ แล้วจากนั้นก็จะทำงานต่ำลงกว่าปกติเพราะต่อมถูกทำลาย เป็นผลให้ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ถูกผลิตขึ้นมาไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เป็นผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ, การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งที่บริเวณคอ หรือถ้าในเด็กเล็กอาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในแม่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ทำให้ต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่

โรคไทรอยด์

2. ไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (hyperthyroidism)
          อาจเรียกว่า ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากความผิดปกติที่ทำให้เนื้อเยื่อไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ขึ้นมามาก และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไปด้วย โรคนี้มีคนเป็นน้อยกว่าไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ แต่ก็สร้างปัญหาได้พอ ๆ กัน เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง (congestive heart failure),โรคกระดูกพรุน และเกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเต็มขั้น และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคคอพอกตาโปน (Graves’disease) อีกด้วย

3. ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto)
          ต่อมไทรอยด์อักเสบ สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ซึ่งมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกัน แต่ที่พบได้บ่อยคือ

          - ต่อมไทรอยด์อักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด (รวมทั้งเชื้อไวรัสคางทูม) มักพบในคนอายุ 20-40 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

          - ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากออโตอิมมูน (Autoimmune thyroiditis/

          Hashimoto's thyroiditis) เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อตัวเอง คือแทนที่ร่างกายจะต่อสู้กับเชื้อโรค กลับมากระตุ้นต่อมไทรอยด์แทน ทำให้ไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ โดยภาวะนี้พบมากในผู้หญิงทุกวัย และอาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติว่าพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

          - ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้น้อยมาก และมักพบในผู้หญิงวัยกลางคนมากกว่าผู้ชาย

4. เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์

          การสังเกตเห็นหรือคลำได้ก้อนโตที่ต่อมไทรอยด์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยพอสมควร ประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป โดยมักพบในสุภาพสตรีวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์มีทั้งชนิดที่ไม่เป็นพิษและชนิดที่เป็นพิษ และอาจเกิดได้จากสาเหตุที่ต่างกัน โดยอาจเกิดจากเนื้อไทรอยด์โตผิดรูปโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ เกิดจากเนื้องอกต่อมไทรอยด์ชนิดไม่ร้ายแรง หรืออาจเกิดจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ซึ่งจริง ๆ แล้วพบได้น้อยมาก เพียงร้อยละ 5 โดยประมาณ

โรคไทรอยด์

5. คอพอก

          อาการคอพอกก็เป็นหนึ่งในความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เช่นกันค่ะ โดยคอพอกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ กับคอพอกชนิดเป็นพิษ ซึ่งสาเหตุของโรคคอพอกไม่เป็นพิษหลัก ๆ ก็เกิดจากการขาดไอโอดีน โดยเฉพาะในเด็กทารกที่แม่ไม่ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ ทารกในครรภ์ก็อาจเป็นโรคคอพอกได้สูง แต่สำหรับผู้ใหญ่จะมีอาการแสดงออกถึงการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่ การเป็นคนเชื่องช้า เซื่องซึม ขี้หนาว พูดช้า เสียงแหบ ผิวแห้ง ผมแห้งหยาบ และร่วงง่าย ท้องผูก อ้วนขึ้น โดยที่อาจไม่พบว่าต่อมไทรอยด์โตกว่าปกติด้วยซ้ำ

          ส่วนโรคคอพอกเป็นพิษมักเกิดจากภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผมลง บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น บางคนมีอาการท้องเสีย ส่วนบางคนก็ตาโปนออก

6. มะเร็งต่อมไทรอยด์


          มะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในต่อมไทรอยด์ให้กลายเป็นเนื้อร้าย เริ่มจากการคลำเจอก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ (ด้านหน้าลำคอ) เป็นอันดับแรก ก้อนนี้เคลื่อนขึ้น-ลงได้เมื่อกลืนน้ำลาย ต่อมาก้อนนั้นจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหมายถึงเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว หรือหากรักษาไม่ทันอาจลามไปเกิดก้อนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

          ทว่าจริง ๆ แล้วมะเร็งต่อมไทรอยด์ก็ไม่ได้น่ากลัวเหมือนมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่ถึงตายค่ะ เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่มีอาการเจ็บปวดเท่าไร ที่สำคัญยังเป็นมะเร็งที่คนเรามักจะสังเกตได้ง่าย จากก้อนที่โตจนคลำได้บริเวณคอนั่นเอง ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุและพบว่าเป็นมะเร็งจนนำไปสู่การรักษาจึงค่อนข้างทำได้อย่างทันท่วงที


โรคไทรอยด์

อาการต่อมไทรอยด์

          อาการต่อมไทรอยด์ผิดปกติมีความแตกต่างกันแล้วแต่กรณี แต่หลัก ๆ แล้วเราสามารถสังเกตอาการต่อมไทรอยด์ผิดปกติได้ดังนี้

          - อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เนื่องจากหัวใจถูกกระตุ้นให้ทำงานหนัก

          - เหงื่อออกง่าย อันเนื่องมาจากระบบเผาผลาญและการใช้พลังงานถูกกระตุ้น

          - นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

          - ท้องเสียง่าย จากการที่ทางเดินอาหารถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น 

          - ตาโปนกว่าปกติ โดยเนื้อเยื่อหลังนัยน์ตาขยายขนาดขึ้นจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

          - ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีทั้งประจำเดือนขาด หรือมาไม่ตรง มาแบบกะปริบกะปรอย

          - กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน พบในรายที่ไทรอยด์เป็นพิษแล้วเกิดเกลือแร่โพแทสเซียมต่ำอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการคล้ายอัมพาต ขยับแขน ขา และลำตัวไม่ได้

          - คลำเจอก้อนโตบริเวณลำคอด้านหน้า สามารถขยับเคลื่อนขึ้น-ลงได้ เวลากลืนน้ำลาย

          - อารมณ์หดหู่, สมาธิไม่ดี

          - เส้นผมและขนผิวหนังร่วง (โดยเฉพาะหางคิ้ว) ผิวแห้ง

          - เจ็บตามข้อ บวมน้ำ (โดยเฉพาะที่มือและเท้า)

          - เสียงแหบ

          - หนาวง่าย

          - ความดันโลหิตสูง

          ทั้งนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก 19 สัญญาณอาการไทรอยด์ นอนไม่หลับบ่อย เพลียตลอดเวลา หรือว่าป่วย ? แต่อย่างไรก็ดี หากพบว่ามีสัญญาณความผิดปกติของร่างกายดังข้างต้น ก็ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกตินั้นโดยเร็วที่สุดนะคะ

โรคไทรอยด์

การรักษาไทรอยด์ผิดปกติ

การรักษาหลัก ๆ มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่

1. การรับประทานยา

          ในกรณีนี้แล้วแต่อาการของผู้ป่วย หากมีภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน แพทย์อาจสั่งยาระงับการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ให้ แต่หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย เคสนี้ก็ต้องให้ยาเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์กับผู้ป่วย รวมไปถึงการให้ยาเพื่อรักษาอาการข้างเคียงอื่น ๆ ร่วมด้วย

2. รักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน

          สำหรับผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินสารไอโอดีนชนิดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา เพื่อไปทำลายต่อมไทรอยด์ แต่ทั้งนี้อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้ป่วยอาจตกอยู่ในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ ซึ่งก็ต้องให้ยาเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์กับผู้ป่วยร่วมด้วย

3. การผ่าตัด
          ในกรณีที่มีข้อห้ามในการกินยาหรือใช้สารรังสี รวมถึงกรณีที่ต่อมไทรอยด์มีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง แพทย์อาจจะแนะนำวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งข้อดีก็คือ สามารถได้ชิ้นเนื้อออกมา เป็นการถอนรากถอนโคน แต่ข้อเสียคือมีโอกาสที่จะผ่าตัดถูกเส้นประสาทที่ควบคุมเส้นเสียง และอาจผ่าตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดที่อยู่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นหลังการผ่าตัดอาจจะต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์เสริม และในกรณีที่ผ่าตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์ อาจจะต้องกินแคลเซียมเสริมเพิ่มเติม

          ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ทีมแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยจะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น อย่าพยายามรักษาโรคด้วยตัวเองเด็ดขาดนะคะ

โรคไทรอยด์

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคไทรอยด์
   
- เลี่ยงรับประทานไขมันชนิดไม่ดี
          หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ ให้รับประทานอาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลม่อน, ปลาแมคเคอเรล, ปลาซาร์ดีน, วอลนัท, เมล็ดแฟลกซ์ และน้ำมันเพื่อสุขภาพ (น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันมะกอกชนิดเอ็กตร้าเวอร์จิน, น้ำมันจากเมล็ดองุ่น, น้ำมันสกัดจากอะโวคาโด) เพื่อปรับสภาพอารมณ์ ระบบเผาผลาญ และปกป้องหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ปกติของต่อมไทรอยด์

- รับประทานอาหารบำรุงไทรอยด์

          ไม่ว่าจะยังไม่ป่วยหรือกำลังรักษาโรคไทรอยด์ ก็อยากแนะนำให้กินอาหารบำรุงต่อมไทรอยด์ตามนี้เอาไว้ เพื่อให้ต่อมไทรอยด์ของเราแข็งแรง และเพื่อช่วยให้การรักษาไทรอยด์เป็นไปด้วยดีมากขึ้น

          - อ่อนเพลียบ่อยอาจเพราะไทรอยด์ผิดปกติ รีบบำรุงด้วย 7 อาหารนี้ด่วน

- งดสูบบุหรี่

          ควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางตา เช่น ตาโปนเพิ่มมากขึ้น

- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
          เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

- งดการออกกำลังกายหนัก ๆ

          โดยเฉพาะช่วงแรกของการรักษา เพราะผู้ป่วยอาจยังอ่อนแรงและทำให้อาการทรุดลงได้

โรคไทรอยด์

- หมั่นสังเกตอาการตัวเอง

          ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ อาจมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก ควรพบแพทย์ เพราะความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาที่พบได้ไม่บ่อยนัก หรืออาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ของยา เช่น ตับอักเสบ ผื่นขึ้น หรือปวดข้อ ซึ่งควรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบโดยด่วน

- ตรวจเลือดปีละครั้ง

          โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาไทรอยด์ด้วยการผ่าตัด เมื่อไทรอยด์เป็นพิษหายขาดแล้ว ควรได้รับการตรวจเลือดประมาณปีละครั้ง เพื่อเช็กภาวะไทรอยด์ผิดปกติให้แน่ใจ

- ควรวางแผนครอบครัวก่อนมีบุตร

          หากอยู่ในช่วงรักษาไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีน เคสนี้ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรด้วยนะคะ ดังนั้นวิธีป้องกันตัวเองและลูกในครรภ์ที่ดีที่สุดคือการวางแผนครอบครัว ตรวจสุขภาพ เช็กความพร้อมก่อนมีบุตรโดยทีมกุมารแพทย์ให้แน่ใจเสียก่อน

          จริง ๆ แล้วการป้องกันโรคไทรอยด์ผิดปกติสามารถทำได้ตั้งแต่ในครรภ์ กล่าวคือการที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยป้องกันลูกน้อยมีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้ดีที่สุด ส่วนในผู้ใหญ่ การหมั่นตรวจเช็กสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ และดูแลตัวเองให้ดีในสายเฮลธ์ตี้ ก็จะเป็นวิธีป้องกันโรคภัยให้เราได้มากมายเลยล่ะค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง
thailabonline
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หน่วยสร้างเสริมสุขภาพ งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล