ไขความลับ เผยที่มาและสาเหตุ การหัวเราะแบบโจ๊กเกอร์

จากภาพยนตร์เรื่อง “Joker” ที่กำลังเป็นกระแสโด่งดัง ซึ่งกำลังเข้าฉายอยู่ขณะนี้ โดยมีตัวเอกของเรื่องอย่าง “วาคีน ฟินิกซ์” รับบทบาทเป็น “อาร์เธอร์ เฟล็ก” หรือ “โจ๊กเกอร์” ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆมากมายว่า เขาได้ทำการบ้านอย่างหนักในการถ่ายทอดเรื่องราวของโจ๊กเกอร์บนจอภาพยนตร์ให้สมบทบาทที่สุด โดยเฉพาะการศึกษาวิธี “การหัวเราะแบบโจ๊กเกอร์” จากผู้ป่วยที่มีอาการ “Pseudobulbar affect”

โดยล่าสุดทาง กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำแนะนำเพื่อทำความรู้จักกับ Pseudobulbar affect (PBA) หรือ “ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้” แบบที่ โจ๊กเกอร์ เป็นในบทภาพยนตร์ ว่าคืออะไร? และมีอาการอย่างไรบ้าง?


“การร้องไห้ การหัวเราะ เป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ แต่บางครั้งการหัวเราะและร้องไห้ อาจเป็นความผิดปกติของใครบางคนได้เหมือนกัน”

อาการของ : Pseudobulbar affect (PBA) “ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้”

  • มีการร้องไห้ หรือหัวเราะรุนแรง ควบคุมไม่ได้

  • การร้องไห้ หรือหัวเราะนั้นไม่เข้ากับสถานการณ์

  • การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์

  • อาการเป็นอย่างยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้

  • อาจเกิดได้หลายครั้งต่อวัน


สาเหตุที่พบ : เชื่อว่า PBA เกิดจากปัญหาที่สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) พบได้ในโรคต่างๆ ดังนี้

  • โรคหลอดเลือดสมอง

  • โรคความจำเสื่อม และโรคพาร์กินสัน

  • เนื้องอกในสมองบางชนิด

  • Multiple Sclerosis โรคปลอกประสาทเสื่อม


วิธีแก้ไขอาการ

  • พบแพทย์และอธิบายอาการเพื่อแยกระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์ชนิดอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์

  • ทำไดอารี่บันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ

  • รักษาด้วยวิธีการใช้ยา


วิธีดูแลตนเองหรือคนที่มีอาการ

  • พูดคุยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้กับครอบครัว เพื่อลดความตื่นตระหนกเมื่อมีอาการ

  • การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ สามารถลดอาการได้ เช่น จากลุกเป็นนั่ง จากนั่งเป็นเดิน ฯลฯ

  • หายใจเข้าออกอย่างช้าๆ

  • ฝึกการผ่อนคลายทุกๆวัน


ขอบคุณที่มา : กรมสุขภาพจิต