ปลานิล ปลาไทยมากประโยชน์โอเมก้าสูงไม่แพ้ปลานอก!

เมื่อวันที่  25  มีนาคม  2508  พระจักรพรรดิอากิฮิโต  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงจัดส่งปลานิลจำนวน  50  ตัว  ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ  9  เซนติเมตร  น้ำหนักประมาณ  14  กรัม  มาทูลเกล้าฯ  ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดิน  เนื้อที่ประมาณ  10  ตารางเมตร  ในบริเวณสวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต  เมื่อเลี้ยงมาได้  5  เดือนเศษ  ปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าหน้าที่สวนหลวงขุดบ่อขึ้นใหม่อีก  6  บ่อ  มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ  70  ตารางเมตร  ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้ทรงย้ายปลาด้วยพระองค์เอง  โดยย้ายจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง  6  บ่อ  เมื่อวันที่  1  กันยายน  2508  ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มอบหมายให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน


     โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นปลาจำพวกกินพืช  เลี้ยงง่าย  มีรสดี  ออกลูกดก  เจริญเติบโตได้รวดเร็ว  ในเวลา  1  ปี  จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมและมีความยาวประมาณ  1  ฟุต  จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์  อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป
     ดังนั้น  เมื่อวันที่  17  มีนาคม  2509  ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเกือบครบ  1  ปี  ที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นได้จัดส่งพันธุ์ปลามาทูลเกล้าฯ  ถวายพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า  “ปลานิล”  และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว  3-5  เซนติเมตร  จำนวน  10,000  ตัว  ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง  ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน  และที่สถานีประมงต่างๆ  ทั่วราชอาณาจักรอีกจำนวน  15  แห่ง  เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไปพร้อมกัน  ซึ่งเมื่อปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ออกมาได้มากเพียงพอแล้ว  ก็จะได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป


รูปร่างลักษณะและนิสัยปลานิล
     ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง  (อยู่ในตระกูล  Cichlidae)  มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา  พบทั่วไปตามหนอง  บึง  และทะเลสาบ  ในประเทศซูดาน  อูแกนดา  แทนแกนยิกา  เนื่องจากปลาชนิดนี้เลี้ยงง่ายและเติบโตเร็ว  จึงมีผู้สนใจเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
     ปลานิลมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ  ลักษณะพิเศษของปลานิลนั้น  มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน  มีเกล็ด  4  แถวตรงบริเวณแก้ม  และจะมีลายพาดขวางลำตัวประมาณ  9-10  แถบ  มีนิสัยชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแม่น้ำ  ลำคลอง  หนอง  บึง  และทะเลสาบ  เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย  มีความอดทน  และสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่าย  เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี



การแพร่ขยายพันธุ์
               ลักษณะเพศ  ตามปกติแล้วรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย  จะคล้ายคลึงกันมาก  แต่จะสังเกตได้โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้ช่องทวาร  ตัวผุ้จะมีอวัยวะเพศลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา    ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างใหญ่และกลม  ปลาที่จะดูลักษณะเพศได้ชัดเจนนั้น  ต้องมีขนาดยาวตั้งแต่  10  เซนติเมตรขึ้นไป  ในกรณีที่ปลามีขนาดโตเต็มที่แล้วนั้น  อาจจะสังเกตได้ด้วยการดูสีที่ลำตัว  เพราะปลาตัวผู้จะมีสีเข้มตรงบริเวณใต้คางและตามลำตัว  ต่างกับปลาตัวเมีย  และยิ่งใกล้จะถึงฤดูผสมพันธุ์  สีก็จะยิ่งมีความเข้มยิ่งขึ้น
               พ่อแม่ปลานิลที่มีขนาดยาว  10  เซนติเมตร  และมีอายุประมาณ  4  เดือนขึ้นไป  เป็นปลาโตได้ขนาดพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้  หากสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว  ปลาตัวผู้ก็จะแยกตัวออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณชานบ่อตื้นๆ  ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ  30-50  เซนติเมตร  วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง  ในระดับตั้งฉากกับพื้นดินแล้วใช้ปากกับการเคลื่อนไหวของลำตัว  เขี่ยดินตะกอนออก  โดยวิธีอมเอาดินตะกอน  และเศษสิ่งของต่างๆ ในบริเวณนั้นไปทิ้งนอกรัง  จะทำอยู่เช่นนี้เรื่อยไป  จนกว่าจนได้รังซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมที่มีขนาดตามความต้องการ  หากมีปลาอื่นอยู่ในแถวนั้นด้วย  ปลานิลตัวผู้ก็จะพยายามขับไล่ให้ออกไปนอกบริเวณ  ตัวมันเองจะคอยวนเวียนอยู่ในรัศมี  2-3  เมตร  รอบๆ รัง  และจะแผ่ครีบหลังอ้าปากกว้างอยู่ตลอดเวลา  อาการเช่นนี้เป็นการเชิญชวนให้ตัวเมียซึ่งว่ายเข้ามาใกล้  ให้เจ้ามายังรังที่ได้สร้างไว้  ปลาตัวเมียบางตัวกว่าจะพบรังที่ถูกใจได้จะฝ่านรังที่ปลาตัวผู้เตรียมไว้ถึง  3  รัง
               เมื่อต่างได้คู่แล้ว  ก็จับคู่เคียงกันไป  และจะให้หางดีดผัดผันแว้งกัดกันเบาๆ  หลังจากเคล้าเคียงในลักษณะเช่นนี้ครู่หนึ่งแล้ว  ปลาก็จะผสมพันธุ์โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ  10  หรือ  20  ฟอง  ในขณะเดียวกัน  ปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไป  พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่นั้น  ทำอยู่เช่นนี้  จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ  ไขที่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก  โดยวิธีอมไข่เข้าไปในปาก  แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า  ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่นๆ ต่อไปอีก


               แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากปลาเป็นเวลา  4-5  วัน  ไข่ก็จะเริ่มฟักออกเป็นตัว  ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ  จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารจนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป  หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ  3-4  วัน  แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปากลูกปลาในระยะนี้  สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็กๆ  ซึ่งอยู่ในน้ำ  โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา  และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปาก  เมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย  โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือทางช่องเหงือก  หลังจากลูกปลามีอายุได้  1  สัปดาห์  จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่  แต่แม่ปลาก็ยังต้องคอยระวังศัตรูให้โดยการว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่  ลูกปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่ออายุได้  3 สัปดาห์  และมักจะว่ายขึ้นกินอาหารรวมกันเป็นฝูงๆ


               การแพร่ขยายพันธุ์ของปลานิลนั้น  ปริมาณไข่ที่แม่ปลาวางแต่และครั้งจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลาและฤดูกาล  โดยประมาณแล้วปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละ  50-600  ฟอง  แม่ปลาที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกจะให้ลูกปลาจำนวนน้อย  ปริมาณไข่ของแม่ปลาจะเพิ่มมากตามขนาดของแม่ปลาที่เจริญวัยขึ้น  แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถว่างไข่ได้ทุกระยะ  2-3  เดือนต่อครั้ง  ถ้าหากบ่อเลี้ยงปลามีสภาพดีและมีการให้อาหารพอเพียง  ในเวลา  1  ปี  แม่ปลาตัวหนึ่งจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ประมาณ  3-4  ครั้ง



          ปลานิลเป็นปลาซึ่งมีเนื้อมาก  และมีรสดี  สามารถที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  ทอด  ต้ม  แกง  ตลอดจนทำน้ำยาได้ดีเท่ากับปลาช่อน  นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆโดยทำเป็นปลาเค็มตากแห้งแบบปลาสลิด  ปลากรอบ  ปลาร้า  ปลาเจ่า  ปลาจ่อม  หรือปลาส้ม  และยังนำมาประกอบเป็นอาหารแบบอื่นได้อีกหลายชนิด  ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วนั้นสามารถเก็บไว้ได้นาน  ทั้งสามารถนำไปจำหน่าย  นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง



ประโยชน์ของปลานิล
1. บำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยป้องกันความเสื่อมของสมอง และช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้
2. เป็นรวมประโยชน์ของโปรตีนย่อยง่ายที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เนื่องจากกรดอะมิโนที่พบในโปรตีนของเนื้อปลามีผลต่อการพัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตในเด็ก และช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ที่สึกหรอ

3. เสริมสร้างกระดูกและฟัน ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด เนื่อปลายังมีแร่ธาตุและวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งวิตามินบี ไนอะซิน อีกทั้งในเนื้อปลายังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กในสัดส่วนที่พอดี
4. ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
5. ป้องกันความแก่ก่อนวัยเพราะในเนื้อปลานิลมีคอลลาเจนชั้นดีจากธรรมชาติ ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่สึกหรอ ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ
6.  เนื้อปลานิลไม่มีคอเลสเตอรอลและยังช่วยลดการสะสมของคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้
7. โซเดียมต่ำ แนะนำให้บผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกลัวอาการบวมเค็ม
8. ช่วยลดน้ำหนัก  เมื่อทานเนื้อปลานิลเข้าไปจึงช่วยให้อิ่มเร็ว และอิ่มได้นานจัดเป็นกลุ่มปลาน้ำจืดที่มีปริมาณไขมันต่ำมาก ดังนั้นคนที่กำลังลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ปลานิลถือเป็นเมนูที่ไม่ควรพลาด

เมนูปลานิล

1.ปลานิลผัดขิง


2.ปลานิลทอดกระเทียม


3.ปลานิลนึ่งซีอิ๊ว


4.ปลานิลนึ่งมะนาว


5. ต้มยำปลานิล


6. ปลานิลย่าง


7.เมี่ยงปลานิล


8.ปลานิลทอดยำตะไคร้


9.ปลานิลพริกไทยดำ