ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น ที่แพร่จากคนสู่คนได้

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาการป่วยเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่ ทำไมถึงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มารู้จักไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเฝ้าระวังตัวเองกัน 

ไวรัสโคโรนา

          เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง เมื่อมีข่าวโรคปอดบวมปริศนาแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของประเทศจีน มาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 ภายหลังจึงพบว่า ต้นตอของโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบปริศนา เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และในตอนนั้นมีคำยืนยันว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน สถานการณ์การระบาดในช่วงแรกจึงดูไม่น่าวิตกอะไร

 

          แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน กลับมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้มีเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็พบผู้ป่วยในอีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พร้อมกับรายงานใหม่จากทางการจีนที่ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ นั่นจึงทำให้เราต้องหันกลับมาสนใจและรู้ให้เท่าทันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

 

ไวรัสโคโรนา

ภาพจาก Noel Celis/AFP

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คืออะไร

          จริง ๆ แล้ว ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสชนิดหนึ่งในตระกูลโคโรนาที่พบมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว มีลักษณะคล้ายมงกุฎ จึงตั้งชื่อว่า "โคโรนา" ที่แปลว่า มงกุฎ สามารถก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในสัตว์และมนุษย์ ซึ่งในมนุษย์จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบเพียง 6 สายพันธุ์ย่อย ที่ทำให้เกิดการระบาดในมนุษย์ ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 สายพันธุ์ที่เป็นการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน ทำให้มีอาการรุนแรง นั่นคือ "โรคซาร์ส" (SARS - Severe Acute Respiratory Syndrome) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ที่ระบาดในฮ่องกง เมื่อปี 2002 และ "ไวรัสเมอร์ส" (MERS: Middle East respiratory syndrome) หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบตะวันออกกลาง เมื่อปี 2012 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากมาแล้ว ส่วนอีก 4 สายพันธุ์ แค่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ก่ออันตรายเท่าสายพันธุ์อื่น ๆ

          แต่ไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นเหตุของโรคปอดบวมในเมืองอู่ฮั่นนั้น เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ 7 ซึ่งยังไม่เคยพบการระบาดมาก่อน จึงเรียกชื่อว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) หรือ Novel coronavirus 2019

ไวรัสโคโรนา

ภาพจาก AFP PHOTO / BRITISH HEALTH PROTECTION AGENCY

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาจากไหน

          สำหรับต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ 7 นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าต้องมีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเช่นโรคเมอร์สที่มีอูฐเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่มนุษย์ โดยจากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสอาหารทะเลที่ตลาดค้าอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น จึงคาดว่าตลาดแห่งนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของโรคดังกล่าว และทางการได้สั่งปิดตลาดนี้แล้ว
 

          อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ไม่ได้ขายสัตว์ทะเลอย่างเดียว แต่ยังขายสัตว์ปีก นก ไก่ฟ้า งู กระต่าย รวมไปถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อีกมาก จึงยังไม่ทราบว่า ต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) มาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่ แต่นักวิจัยหลายหน่วยงานในประเทศจีน พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส คือ HKU9-1 ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้ในค้างคาวชนิดกินผลไม้ จึงตั้งสมมติฐานว่า ค้างคาวอาจเป็นพาหะของไวรัส และอาจมีตัวกลางไม่ทราบชนิดเป็นตัวแพร่เชื้อจากค้างคาวไปสู่คน

          
ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Virology พบว่า พันธุกรรมของ 2019-nCoV มีความใกล้เคียงกับงูมากที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโคโรนา น่าจะส่งผ่านจากค้าวคาวมาสู่งู ก่อนที่จะส่งผ่านเชื้อจากงูเข้าสู่มนุษย์ จนเกิดการระบาดของโรคขึ้น แต่นักวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ว่าเชื้อไวรัสสามารถปรับตัวให้เข้ากับโฮสต์ที่เป็นสัตว์เลือดเย็น และโฮสต์ที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างไร

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ติดต่อกันได้อย่างไร

          ในช่วงแรกของการระบาดยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น โดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ การระบาดจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ
 

          กระทั่งกลางเดือนมกราคม เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศจีนกว่าร้อยราย ทั้งที่ไม่เคยไปเมืองอู่ฮั่นเลย แต่ติดไวรัสมาจากคนในครอบครัว รวมทั้งยังพบเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ในที่สุดแล้ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) จึงต้องออกมายืนยันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
 

          ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว โรคติดต่อทางเดินหายใจสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสผู้ป่วย สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ จาม รวมทั้งการหายใจรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
 

ไวรัสโคโรนา

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาการเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน

          ณ ปัจจุบัน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่ถือว่ารุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส และเมอร์ส เพราะทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงปอดอักเสบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละคน

          โดยหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาฟักตัว 2-14 วัน ดังนั้นถึงแม้จะได้รับเชื้อมาแล้วก็ไม่ใช่ว่าป่วยทันที อาจต้องรอถึง 14 วัน จึงแสดงอาการให้เห็น ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ

  • มีไข้สูง 

  • ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ 

  • หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ท้องเสีย  อาเจียน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือปอดบวม จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง

ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรค

          ทุกคนสามารถติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ แต่มีบุคคลบางกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และเมื่อป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป เช่น

  • เด็กเล็ก

  • ผู้สูงอายุ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว

  • ผู้ที่มีภาวะคุ้มกันบกพร่อง

  • คนดูแล หรือใกล้ชิดผู้ป่วย

  • บุคลากรทางการแพทย์ 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รักษาได้ไหม

         ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์เพราะมีไข้สูง และไอ คล้ายกับไข้หวัดทั่วไป แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดจึงได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีจนหายเป็นปกติได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียารักษาโดยตรงหรือวัคซีนป้องกัน หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ร่างกายจะกำจัดเชื้อไปได้เอง
 

          แต่ในบางคนอาจมีอาการหนักและทรุดลงอย่างรวดเร็วซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย ภูมิต้านทาน รวมทั้งจำนวนเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน ทั้งนี้ จากข่าวที่ปรากฏพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว
 

ไวรัสโคโรนา

ภาพจาก STR / AFP

พบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่ไหนแล้วบ้าง ?

          จากข้อมูลวันที่ 26 มกราคม 2563 พบผู้ติดเชื้อในประเทศจีน กว่า 2,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 80 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ยมากที่สุด นอกนั้นกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติเคยเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น

          ด้วยเหตุนี้ ทางการอู่ฮั่นจึงได้สั่งปิดเมืองและหยุดให้บริการขนส่งทางสาธารณะทั้งหมด เพื่อไม่ให้คนเดินทางออกนอกอู่ฮั่น ซึ่งคาดว่าการกักกันโรคครั้งนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้

          ​​​​​​​ขณะที่ในต่างประเทศ ก็พบนักท่องเที่ยวชาวจีนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หลายราย ทั้งในประเทศไทย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, มาเก๊า, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, แคนาดา, เนปาล

ไวรัสโคโรนา

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย

          จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2563 มีรายงานพบผู้ป่วย 8 ราย เป็นชาวจีน 7 ราย และชาวไทย 1 ราย ทั้งหมดเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงคือ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และไม่ใช่การติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งมีผู้ป่วย 5 รายได้รับการรักษาในประเทศไทยจนหายดีและเดินทางกลับบ้านแล้ว
 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมรับมือโรคนี้อย่างเต็มที่ โดยมีมาตรการการเฝ้าระวังดังนี้

          - ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ใน 4 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต
          - ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น
          - การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422
 

ไวรัสโคโรนา

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ป้องกันได้ไหม ?

          เราสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เบื้องต้นเหมือนกับการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจทั่วไป เช่น

               - สวมหน้ากากอนามัย
               - ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู หรือต้นแขนด้านใน
               - หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่นาน 20 วินาที หรือเจลล้างมือ
               - ไม่ใช้มือสกปรกแคะจมูก หรือหยิบอาหารเข้าปาก
               - อย่านำมือที่ยังไม่ล้าง สัมผัสใบหน้า
               - หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด แหล่งชุมชน บริเวณที่มีคนอยู่เยอะ หรือสถานที่ที่มลภาวะเป็นพิษ
               - หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางระบบหายใจ หรืออาการคล้ายไข้หวัด
               - รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค
               - นอนหลับให้เพียงพอ
               - ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ให้สุก

        กรณีจำเป็นต้องเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น หรือเดินทางไปประเทศจีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้
 

ไวรัสโคโรนา

          - ระหว่างเดินทางในต่างประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ
          - ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
          - หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
          - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
          - หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
          - ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
          - รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
          - หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
          - หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

          แม้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะยังไม่แพร่กระจายในประเทศไทย แต่เราก็ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศให้ดี เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เชื้อไวรัสตัวใหม่นี้จะก่อให้เกิดการระบาดที่รุนแรงเหมือนกับโรคซาร์ส และโรคเมอร์ส ได้หรือไม่
 

*อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 27 มกราคม 2563

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไทยพีบีเอส, องค์การอนามัยโลก, กรุงเทพธุรกิจ, สปริงนิวส์, กรุงเทพธุรกิจ, CNN, BBC