อุตุฯเตือน 9-13 ก.พ. อากาศแปรปรวน เจอฝนก่อนอุณหภูมิลดฮวบ 3-5°C

วันนี้ (7 ก.พ. 2563) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 2 เตือน 9–13 ก.พ.นี้ ทั่วไทยอากาศแปรปรวน จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในระยะแรก โดยในบริเวณภาคเหนือตอนบนจะมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีผลกระทบตามภาคต่างๆ ดังนี้

       ภาคเหนือ ช่วงวันที่ 9-10 ก.พ. 2563 มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่ และน่าน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาฯ กับมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-17 องศาฯ สำหรับยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 1-10 องศาฯ และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นบริเวณยอดดอยในภาคเหนือ

       ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในบริเวณจังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลง 3-6 องศาเซลเซียส กับมีอากาศหนาว และลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาฯ สำหรับยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาฯ

       ภาคกลางและภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาฯ กับมีอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาฯ

       ภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 9-10 ก.พ. 2563 กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส สำหรับคลื่นลมบริเวณภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 9-12 ก.พ. 2563

       ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นอากาศในกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

       ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายและรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

       อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา