แชร์ไว้เลย ก่อนแต่ง-หลังแต่ง หนี้สินเป็นของใคร

หนี้สินที่เกิดขึ้นหลังแต่งงานบางประเภท แม้ไม่ได้ก่อหนี้ร่วมกัน ก็ต้องรับผิดชอบด้วยกัน

           เมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของคนสองคน เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คู่ชีวิตต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน โดยหลายท่านอาจเกิดข้อสงสัยว่า หากมีภาระหนี้สินเกิดขึ้นในช่วงก่อนแต่งงานและหลังแต่งงาน ภาระหนี้สินเหล่านี้จะตกเป็นของใคร คู่ชีวิตทั้งสองคนต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินร่วมกันหรือไม่ วันนี้มาหาคำตอบไปกับ K-Expert กัน


หนี้สิน

หนี้สินก่อนแต่งงาน
   
           ก่อนที่คู่สมรสจะจดทะเบียนสมรส ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนี้สินติดตัวมาไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้จากการทำธุรกิจ เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว หนี้ส่วนนี้ คู่สมรสไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายได้ขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ หลังจากนั้น ธุรกิจดำเนินไปได้ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กรณีนี้ ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะไปเรียกร้องหนี้ส่วนนี้จากสินส่วนตัวของฝ่ายชาย และหากสินส่วนตัวไม่เพียงพอ ก็จะไปเรียกร้องจากสินสมรสของฝ่ายชาย (ครึ่งหนึ่งของสินสมรส) โดยฝ่ายหญิงไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ส่วนนี้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนสมรส


หนี้สิน

หนี้สินหลังแต่งงาน
   
          สำหรับหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว โดยปกติจะเป็นหนี้ส่วนตัวคล้ายกับกรณีของหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนสมรส หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อภาระหนี้และไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ก้อนนั้นได้ จะต้องนำสินส่วนตัวมาชำระหนี้ และถ้าสินส่วนตัวไม่เพียงพอ ก็ต้องนำสินสมรสส่วนของตัวเองมาชำระหนี้ต่อไป

          ทั้งนี้ มีหนี้สินอยู่ 4 ประเภท ที่เป็นหนี้ร่วมทั้งสองฝ่าย คือ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ก่อหนี้ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยหนี้สินทั้ง 4 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

          1. หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส ยกตัวอย่างเช่น หากสามีกู้ยืมเงินเพื่อมาต่อเติมบ้าน โดยที่บ้านหลังนี้เป็นสินสมรส หนี้ก้อนนี้จะถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ซึ่งภรรยาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

          2. หนี้สินที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น หนี้สินที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาลคนในครอบครัว การศึกษาบุตร โดยกฎหมายระบุว่า จำนวนบุคคลและจำนวนหนี้ต้องสมเหตุสมผลตามอัตภาพ

          3. หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส หากสามีภรรยาทำธุรกิจร่วมกัน ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้จากการทำธุรกิจร่วมกัน แม้ว่าชื่อของลูกหนี้จะเป็นชื่อของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม 

          4. หนี้สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน ซึ่งการให้สัตยาบันจะทำให้หนี้ดังกล่าวกลายเป็นหนี้ร่วมที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน

          ยกตัวอย่างเช่น สามีทำสัญญาขอสินเชื่อ หากภรรยาเป็นพยานไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือการทำหนังสือ สินเชื่อดังกล่าวจะเป็นหนี้ร่วมของสามีและภรรยา อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสมรส แม้ว่าอีกฝ่ายมีการให้สัตยาบันในการยอมรับหนี้ดังกล่าว หนี้ก้อนนี้ยังเป็นหนี้ของฝ่ายที่เป็นผู้ก่อหนี้ฝ่ายเดียว โดยที่อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบภาระหนี้ดังกล่าว
          กรณีที่สามีภรรยาเป็นหนี้ร่วมกัน ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้จะยึดสินส่วนตัวก่อนหรือสินสมรสก่อนก็ได้ ซึ่งหากเจ้าหนี้ต้องการยึดสินส่วนตัว สามารถเลือกได้ว่า จะยึดสินส่วนตัวของฝ่ายใดก่อนก็ได้

          เพราะฉะนั้น ก่อนเป็นหนี้ ทั้งสองฝ่ายควรหันหน้าพูดคุยตกลงกัน รับรู้สถานะการเงินของครอบครัวด้วยกัน และเมื่อมีภาระหนี้เกิดขึ้นร่วมกันของคู่สมรส การร่วมมือร่วมใจกันบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะช่วยลดปัญหาการค้างชำระหนี้ ทำให้ไม่ต้องพบกับการยึดทรัพย์จากเจ้าหนี้ได้   

K-Expert Action

          • พูดคุยปรึกษาหารือกันก่อนตัดสินใจก่อหนี้ และรับรู้ถึงหนี้ที่มีอยู่ร่วมกันของสามีภรรยา
          • ช่วยกันบริหารจัดการหนี้และรีบปลดหนี้ให้เร็วที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก