รู้หรือไม่? สงกรานต์สาดน้ำส่งเดช เสี่ยงขึ้นโรงพัก

สงกรานต์...ประเพณีไทยอันรื่นเริงบันเทิงใจที่อบอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์ จนทำให้ลูกเด็กเล็กแดง
หรือหนุ่มสาววัยคะนองรู้สึกถวิลหา และเฝ้ารอให้เทศกาลสาดน้ำเวียนบรรจบอีกครั้ง แต่...แต่มิใช่ทุกคนที่จะรู้สึกเช่นนั้น
ยังมีหลายต่อหลายคนที่ไม่ชอบวันสงกรานต์ หรือเทศกาลที่ถูกขนานนามจากคนบางกลุ่มว่า “สงครามน้ำทิ้ง”
แม้ว่าวันสงกรานต์ จะเป็นเทศกาลอันเป็นที่รักของคนไทย แต่เราอย่าเพิ่งหลงลืมไปว่า วันใดวันหนึ่งในช่วงสงกรานต์
คุณอาจมีกิจธุระที่จะต้องออกไปนอกสถานที่ และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือ คุณอาจจะต้องหอบหิ้วข้าวของที่ไม่สามารถเปียกน้ำได้เลยแม้แต่หยดเดียว


แต่ในจังหวะที่คุณเคลื่อนที่ผ่านสมรภูมิน้ำ คุณบอกกล่าวเหล่าทหารมือสาดอย่างดีว่า
“ไม่เล่นค่ะ” “มีธุระค่ะ” “ไม่สาดนะคะ”...โครมมมมมม! จู่ๆ มวลน้ำขนาดย่อมก็ลอยมาสัมผัสเข้ากับเนื้อตัวของคุณอย่างไม่ปรานี
พร้อมแสดงแสนยานุภาพทำลายล้างโทรศัพท์มือถือและเอกสารสำคัญไปเป็นที่เรียบร้อย...นาทีนั้น
คุณจะทำอย่างไรดี ใครผิด ใครถูก รับมือแบบไหน วันนี้เรามีคำตอบ!

กรณีที่ 1 โดนสาดน้ำ แต่ทรัพย์สินไม่เสียหาย
นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ ให้ความรู้แก่นักรบที่ต้องผ่านสมรภูมิน้ำในครั้งนี้ว่า ในช่วงวันสงกรานต์ (13-15 เมษายน) หากคุณโดนใครก็ตามสาดน้ำโดยที่คุณไม่มีความยินยอมพร้อมใจ ซึ่งคุณตัดสินใจที่จะแจ้งความดำเนินคดี แต่การเอาผิดในกรณีเช่นนี้จะค่อนข้างยาก เนื่องจากในหลักกฎหมายมีการบัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตาม จารีตประเพณี

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำ (คนสาดน้ำ) ว่า ผู้กระทำมีเจตนาทำร้าย หรือมีวัตถุประสงค์ใดๆ กับผู้ถูกกระทำ (คนโดนสาด) หรือไม่ หากพบว่า ผู้กระทำมีเจตนาทำร้าย ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายได้ ซึ่งความผิดจากกรณีดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดฐานลหุโทษ เนื่องจากความผิดดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจตามมาตรา 391 “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีอายุความ 1 ปี

การโดนผู้อื่นสาดน้ำในช่วงสงกรานต์ ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ซึ่งกรรมในที่นี้ คือการกระทำ การกระทำ คือสาดน้ำ ส่วนเจตนานั้น อยู่ในใจ ไม่สามารถนำออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การสาดน้ำที่เกิดขึ้นมาจากเจตนาทำร้าย แต่เจตนาที่มองเห็นด้วยตาเปล่า คือ เขาสาดน้ำสงกรานต์ตามประเพณี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมาดำเนินคดีผู้อื่นในข้อหาทำร้ายร่างกาย” ทนายความ อธิบายตามข้อกฎหมาย

การโดนสาดน้ำในอีกแง่หนึ่งของ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) ระบุว่า หากผู้กระทำสาดน้ำไปโดนผู้ป่วยที่ไม่สามารถสัมผัสน้ำได้ เพราะอาจมีผู้ป่วยบางประเภทที่แพ้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ เมื่อโดนน้ำแล้วอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต หากสาดน้ำโดนผู้ป่วยเหล่านี้ ถือว่ามีความผิดในข้อหาทำร้ายร่างกาย


หากเราสัญจรผ่านบริเวณที่มีคนเล่นน้ำอยู่ แต่มีใครคนหนึ่งมาเซ้าซี้ที่จะขอสาด ทั้งๆ ที่เราบอกเจตนาของเราไปแล้วว่าไม่สาด การกระทำเช่นนี้สามารถเอาผิดได้ในข้อหาก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ดังนั้น การกระทำผิดจากพฤติกรรมสาดน้ำต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไป” โฆษก ตร. กล่าวถึงความผิดขั้นเบา

กรณีที่ 2 โดนสาดน้ำ จนทรัพย์สินเสียหาย
นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ถูกกระทำโดนสาดน้ำในช่วงสงกรานต์ จนเป็นผลให้ทรัพย์สินหรือของมีค่าที่นำติดตัวมาได้รับความเสียหายว่า หากคุณบอกผู้ที่เล่นน้ำไปก่อนแล้วว่า คุณไม่เล่น อย่าสาด เพราะมีข้าวของสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ, เอกสาร, บัตรประเภทต่างๆ หรือทรัพย์สินมีค่าอันเป็นสิ่งที่เปียกน้ำไม่ได้ แต่สุดท้ายกลุ่มคนที่เล่นน้ำอยู่ กลับสาดน้ำคุณจนทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ถือเป็นความผิดทางแพ่ง

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การกระทำเช่นนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยระบุว่า คุณบอกไปก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุแล้วว่า อย่าสาด เพราะอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่คุณก็ยังทำ เพราะฉะนั้น เท่ากับคุณจงใจกระทำให้เกิดความเสียหาย” นายสุนทร ทนายความ ให้รายละเอียด

ดังนั้น หากผู้อื่นไม่ยินยอมที่จะให้สาดน้ำ โดยแจ้งไว้ก่อนแล้ว แต่กลับโดนสาดจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น


กรณีที่ 3 โดนสาดน้ำ แถมลูบคลำ จับคลึง
นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ กล่าวถึงเคสอนาจารว่า ในช่วงวันสงกรานต์ หากผู้ใดก็ตามโดนบุคคลใดบุคคลหนึ่งกอด จูบ ลูบคลำตามร่างกาย หรือจับของลับ ผู้กระทำการเช่นนี้จะมีความผิดชัดเจน เนื่องจากประเพณีสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม และไม่มีพฤติกรรมอนาจารแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 “ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกอดจูบ ลูบคลำ โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจ จนทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความรู้สึกเจ็บใจ จิตตก ตกใจ เครียด ร่วมด้วย ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งมีโทษตามคดีอาญา ดังนั้นผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ทันที” พล.ต.อ.เดชณรงค์ ให้ความรู้ที่ซ่อนไปด้วยการเตือนมือปลาหมึกทั้งหลาย

วิธีแนะนำ ผ่านสมรภูมิน้ำฉลุย
นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ แนะนำวิธีแก่ผู้ที่ไม่ต้องการโดนสาดน้ำในช่วงสงกรานต์ว่า ก่อนออกจากบ้านคุณควรมีวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้น โดยเก็บทรัพย์สินไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด เพราะคุณอย่าลืมว่า สถานการณ์ที่คุณต้องออกไปเผชิญ หลีกเลี่ยงค่อนข้างยาก

“แม้ว่าคุณจะตะโกนแจ้งผู้ที่เล่นน้ำไปแล้ว แต่เขาอาจจะไม่ได้ยิน หรือในอีกทางหนึ่งเขาอาจชะงักมือไม่ทัน จนทำให้น้ำสาดมาถึงคุณ เพราะฉะนั้น ทางที่ดีควรป้องกันตัวเองไว้ก่อนเบื้องต้น” นายสุนทร แนะนำด้วยความเป็นห่วง

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกตำรวจ กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หากรู้อยู่แล้วว่า สถานที่บริเวณนั้นๆ มีผู้คนเล่นน้ำอยู่มากมายเป็นประจำตลอดทุกปี แต่กลับเดินเข้าไปโดยที่ไม่ได้ป้องกันทรัพย์สินของตัวเอง กรณีเช่นนี้จะต้องพิจารณากันอีกทีเนื่องจากผู้สาดอาจอ้างว่า เขาเล่นกันอยู่ก่อนแล้ว แต่คุณเดินเข้าไปพอดี ซึ่งเขาไม่มีเจตนาที่จะสาดคุณ

ทั้งนี้ หากผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางพนักงานสอบสวนจะพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ ว่าฝ่ายใดให้การถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่จะมีวิธีการ เช่น ในพื้นที่เกิดเหตุมีประจักษ์พยานหรือไม่, มีผู้ใดถ่ายคลิปไว้ได้หรือไม่, บริเวณนั้นๆ มีกล้องวงจรปิดหรือไม่

“ในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลอันดีงาม ผู้เล่นก็ควรเล่นอย่างเหมาะสม อย่าพยายามสาดน้ำคนที่เขาไม่ต้องการให้สาด ส่วนผู้ที่มีกิจธุระต้องสัญจรผ่านชุมชนที่เล่นน้ำก็ต้องพยายามหาวิธีป้องกันตัวเองจากน้ำ เช่น ใช้รถยนต์เดินทาง, วางแผนก่อนการเดินทางเพื่อหาทางลัดเลาะจุดเสี่ยง, ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถกันน้ำได้ เป็นต้น” พล.ต.อ.เดชณรงค์ เตือนประชาชนด้วยความปรารถนาดี

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/603204