รู้ให้ทัน "โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" เพราะทุกวินาทีหมายถึงชีวิต

ในความเป็นจริง ความหมายของ โรคหัวใจ นั้นมีอยู่กว้างมาก เพราะทุกอาการป่วยล้วนแล้วแต่มีสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งอาการไหนที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรงส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมความอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี โรคหัวใจมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่วันนี้ Sanook! Health จะขอพูดถึงอีกหนึ่งอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับ "หัวใจ" ที่มีความอันตรายไม่แพ้อาการป่วยโรคหัวใจปกติ นั่นคือ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงถือว่าเป็นอีกโรคหนึ่งที่ผู้ใกล้ชิดจะต้องให้ความสำคัญ เพราะทุกๆ วินาทีหมายถึงชีวิต จากข้อมูลการวิจัยที่เก็บเอาข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 - 2548 จำนวน 9,373 ราย แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันรุนแรงมาก ร้อยละ 41 ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันรุนแรงปานกลาง ร้อยละ 38 และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ ร้อยละ 21 ซึ่งจากตัวเลขแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นอีกโรคที่มีความรุนแรง จึงต้องหันมาให้ความสำคัญและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลเพื่อลดสัดส่วนของผู้ป่วยนี้ให้มีน้อยลง

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดแดงซึ่งเป็นท่อลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจเกิดอุดตันอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่อาการที่แสดงให้เห็นมีความรุนแรง ในบางรายเมื่อเป็นแล้วอาจเสียชีวิตในทันที หรือแม้กระทั่งบางรายที่รู้ตัวทัน เดินทางมาโรงพยาบาล แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรักษาได้อย่างไร?
โดยปกติแล้วในการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

การให้ยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ : การรักษาด้วยวิธีนี้ทำได้โดยการใส่สายสวนซึ่งมีบอลลูนเข้าไปที่บริเวณหลอดเลือดที่ตีบผ่านทางขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อสายสวนเข้าไปถึงจุดที่ตีบตันแล้ว ก็จะมีการใส่ลมในบอลลูนเพื่อให้พองตัว จากนั้นผนังหลอดเลือดที่ตีบตันก็จะขยายออก ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น สะดวกขึ้น
Advertisement

การผ่าตัดต่อหลอดเลือด : การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการเลี้ยงหัวใจด้วยการผ่าตัดทำบายพาส ที่เป็นการผ่าตัดต่อเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจเพื่อทำเป็นทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดบริเวณที่มีการตีบตัน จะทำให้เลือดสามารถผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น โดยหลอดเลือดดำอาจนำมาจากขา หรืออาจจะเป็นหลอดเลือดแดงจากทรวงอก หรือปลายแขนทดแทนได้

ปัจจัยที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
  • ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ : ในที่นี้ก็จะหมายถึงเรื่อง ‘เพศ’ เนื่องจากมีการพบ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง โดยเป็นเพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป และในเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น อีกทั้งในกรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากโรคนี้ โดยเพศชายที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี และเพศหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี ก็นับว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง
  • ปัจจัยที่แก้ไขได้ : ในที่นี้ก็จะหมายถึงการที่ผู้ป่วยควบคุมโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หากเริ่มที่จะงดสูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ อีกทั้ง ผู้ที่มีการดำเนินชีวิตที่เคร่งเครียด เร่งรีบ อยู่ในภาวะที่จะต้องกดดันอยู่ตลอดก็นับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามปกติ ไม่เร่งรีบ

การวินิจฉัยโรค
เมื่อผู้ป่วยสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์อย่างด่วนที่สุด จากนั้นแพทย์ก็จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อพิจารณาความเสี่ยงและอาการที่แสดงให้เห็นเพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษา ส่วนการตรวจร่างกายด้านอื่นๆ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม อาทิ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram: ECHO) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน (Exercise stress test: EST) และการตรวจเพิ่มเติมด้านอื่นๆ ที่เป็นไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
สิ่งสำคัญของ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ หากมีอาการใดๆ ที่อยู่ในข่ายของโรคนี้เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีความพร้อมในทันที อย่าปล่อยให้มีอาการสะสมจนรุนแรงแล้วค่อยรักษา ไม่เช่นนั้นชีวิตของเราอาจตกอยู่บนความเสี่ยงได้ทุกวินาที
ขอขอบคุณ
ภาพ :iStock