Home »
Uncategories »
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยะเมตไตรยในพุทธศาสนา
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยะเมตไตรยในพุทธศาสนา
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยะเมตไตรยเกิดจากคำพยากรณ์
หรือคำทำนายของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทำนายไว้ว่า
เมื่อศาสนาของพระองค์ดำเนินไปได้ห้าพันปี
จะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาอุบัติขึ้น ทรงพระนามว่า พระศรีอาริยะเมตไตรย
คำว่า พระศรีอริยะเมตไตรย หรือพระเมตไตรย ในภาษาบาลี ออกเสียงว่าเมตฺเตยฺย
(Metteyya) ภาษาสันสกฤตออกเสียงว่า ไมเตฺรย
พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5
และเป็นองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้
พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว
โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี
ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้สลดใจกับความชั่วก็หันมารวมกลุ่มกันทำความดี
จากนั้นอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี แล้วจึงลดลงอีก จนเหลือ 80,000 ปี
ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 16 อสงไขยแสนมหากัป
ลงมาตรัสรู้เป็น พระเมตไตรยพุทธเจ้า
พุทธทำนายเกี่ยวกับ
“พระศรีอริยะเมตไตรย” พบในงานเขียนในทุกๆนิกายของศาสนาของศาสนาพุทธ
ดังเช่น หลักฐานจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกาย
ปาฏิกวรรค จักรวัตติสูตรซึ่งเป็นพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
โดยถือกันว่ารักษาเนื้อหาได้สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทุกนิกาย ดังนี้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในเมื่อมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า “เมตไตรย”
จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว
เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้เป็นอรหันต์
พระผู้มีพระภาคพระนามว่เมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวะโลก
มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว
ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ให้รู้ตาม
เหมือนตถาคตในบัดนี้
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น
งามในตอนกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ
พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน
เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้นฯ”