อาหาร-สิ่งแปลกปลอมติดคอ เอาออกผิดวิธี เสี่ยงเสียชีวิต

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(ปัญหาสำลัก)  สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต  ได้ มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  3  ปี  ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจอันได้แก่  รูจมูก และปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโต ให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหาร และวิ่งเล่นไปด้วย 

ในผู้ใหญ่สามารถเกิดปัญหาสำลักได้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยพยายามจะทำกิจกรรมหลายๆอย่างในขณะกินอาหาร เช่น พูด, หัวเราะ  เป็นต้น  บางครั้งฟันปลอมที่ยึดติดไม่แน่นพอ อาจเลื่อนหลุดลงสู่ทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดตามหลังการสำลัก

1. ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งทางเดินหายใจมีขนาดเล็กอยู่แล้ว     การอุดกั้นแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

2. เกิดการอุดกั้นของหลอดลมส่วนปลาย ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ   ปอดพอง  หรือหอบหืดได้

3. เกิดการอุดกั้นการระบายของเสมหะในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาการอักเสบติดเชื้อตามมาเช่น   ปอดอักเสบ ,  หลอดลมอักเสบ  เป็นต้น

4. สิ่งแปลกปลอมบางชนิดเช่น  ถ่านนาฬิกา, ถ่านเครื่องคิดเลข  เมื่อตกค้างในทางเดินหายใจจะทำปฏิกิริยากับเสมหะหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ  เกิดเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้น รั่วซึมออกจากตัวถ่าน  ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อข้างเคียงอย่างรุนแรง จนบางครั้งเกิดการทะลุของอวัยวะภายในเข้าสู่ช่องอกเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะฉุกเฉินกรณีทางเดินหายใจอุดกั้น

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจผู้ป่วยจะมีอาการ  สำลัก  ไออย่างรุนแรง  และมีอาหารหายใจลำบากได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด  รูปร่างและตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม  สิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่มักติดค้าง และเกิดการอุดตันในระดับของกล่องเสียงหรือหลอดลมส่วนต้น  ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์และเฉียบพลัน
ผู้ป่วยมักมีประวัติสำลักในขณะรับประทานอาหาร  กุมฝ่ามือไว้ที่ลำคอ  พูดไม่มีเสียง  กระสับกระส่าย  หายใจไม่เข้า  ริมฝีปากเขียวคล้ำ  ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที
แนะนำให้ใช้วิธีของ  Heimlich  ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยในผู้ใหญ่ หรือเด็กโต ให้ทำในท่านั่งหรือยืนโน้มตัว  ไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลัง  ใช้แขนสอดสองข้างโอบผู้ป่วยไว้  มือซ้ายประคองมือขวาที่กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่  ดันกำมือขวาเข้าใต้ลิ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ดันเข้าใต้กระบังลมผ่านไปยังช่องทรวงอก เพื่อดันให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากกล่องเสียง
ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  1 ปีอาจใช้วิธีตบหลังหรือใช้ฝ่ามือวางลงบนทรวงอก แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดลงบริเวณใต้ลิ้นปี่

ข้อพึงระวัง

1. ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น

2. วิธีของ  Heimlich  ดังกล่าวควรใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์เท่านั้นและผู้ช่วยเหลือควรมีความชำนาญพอสมควร ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังพอมีสติ หายใจเองได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลมากกว่า เนื่องจากการตัดสินใจใช้วิธีดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจอย่างสมบูรณ์ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม  ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์พิจารณาให้การรักษา และนำสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจด้วยวิธีที่เหมาะสม  ปลอดภัย ได้แก่การดมยาสลบและใช้กล้องส่องตรวจทางเดินหายใจ

3. สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็ก อาจมีอาการไม่ชัดเจนและเกิดผลแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบ  หอบหืด หลังการสำลักนานเป็นวันถึงสัปดาห์ได้  พี่เลี้ยงเด็กหรือตัวเด็กเองอาจกลัวถูกตำหนิหรือทำโทษจึงปกปิดประวัติการสำลักสิ่งแปลกปลอมไว้

คำแนะนำเพื่อป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม1. เลือกชนิดและขนาดของอาหารที่เหมาะสมให้แก่เด็กในวัยต่างๆ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารและไม่ควรป้อนอาหารเด็กในขณะที่เด็กกำลังวิ่งเล่นอยู่

2. เลือกชนิด  รูปร่างและขนาดของของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  รวมทั้งจัดเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตราย ให้ปลอดภัยจากการหยิบฉวยของเด็ก

3. สำหรับในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องฟัน  จะต้องปรึกษาทันตแพทย์เพื่อจัดหาฟันปลอมที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ต้องบดเคี้ยวรุนแรงมาก  ขนาดชิ้นอาหารที่พอเหมาะ  และควรถอดฟันปลอมออกก่อนเข้านอน

คำแนะนำในกรณีที่เกิดการสำลักสิ่งแปลกปลอม

1. รับนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที

2. งดน้ำ งดอาหารผู้ป่วยทันทีที่เกิดการสำลัก

3. กรณีเป็นเด็ก  ให้สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่า เด็กเกิดการสำลักในขณะทำอะไรอยู่  เช่นกินอาหาร  ขนม  เล่นของเล่น เป็นต้น  พร้อมทั้งนำตัวอย่างของอาหาร  ขนม สิ่งแปลกปลอมที่สงสัยมาด้วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาของแพทย์

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล